วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อนุรักษ์วัฒนธรรม ชูศิลปโขนหญิง




วิทยาลัยนาฏศิลปเป็นสถานศึกษาในสังกัดสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เดิมวิทยาลัยนาฎศิลปตั้งอยู่ที่ ถนนราชินี เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ใกล้โรงละครแห่งชาติ แต่ในปัจจุบันได้ย้ายมาตั้งที่ ถนนศาสายา-นครชัยศรี ต.ศาสายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม        นางนพวรรณ รุจิภักดิ์ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป เปิดเผยว่า การเรียนการสอนของวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 2 สายใหญ่ ๆ คือ 1.วิชาสามัญ วิชาสามัญทุกระดับ จัดตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พลานามัย และศิลปศึกษา และ 2.วิชาศิลปะ วิชาศิลปะแต่ละสาขาเป็นหลักสูตรที่กรมศิลปากรจัดทำเอง โดยได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนในระดับนาฏศิลป์ชั้นต้นจะต้องเลือกเรียนสาขาใดสาขาหนึ่ง เมื่อเรียนชั้นกลางนักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาศิลปะสาขาอื่นเป็นวิชารองได้อีก
       สำหรับการเรียนการสอนโขนหญิงนั้น คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้ยินคำว่าโขนหญิงกันสักเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้วโขนหญิงมีการแสดงมานานแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนจะใช้แสดงอยู่ในส่วนของละครใน ซึ่งผู้ที่เป็นตัวแสดงในละครในล้วนแล้วเป็นผู้หญิงทั้งหมด แต่สาเหตุที่ทำให้การแสดงโขนหญิงหายไปก็อาจจะเป็นเพราะสมัยนิยมในปัจจุบัน ตรงนี้ทางวิทยาลัยจึงอยากรื้อฟื้นการแสดงโขนหญิงให้คนสมัยใหม่ได้รู้ทั่วกันว่า การแสดงโขนไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นที่แสดงได้
       ด้าน อาจารย์จุลชาติ อรัญยะนาค ครูชำนาญการพิเศษ เผยว่า ไม่ได้เป็นวิชาเรียนหลัก แต่เป็นวิชาที่อยู่ในส่วนของวิชาเลือก และนักเรียนที่มาจะมาเรียนโขนหญิงจะต้องเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมปลาย เป็นนักเรียนที่เรียนภาควิชาไหนก็ได้ รับตามความสมัครใจ แต่ถ้าจะให้ดี คนที่มาเรียนจะต้องมีพื้นฐานในส่วนของละครรำน่าจะดีกว่า เพราะพื้นฐานการเรียนโขนจะคล้าย ๆ กับการเรียนละครรำ
 สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนโขนหญิงได้พูดถึงความรู้สึกที่ได้เรียนวิชานี้ว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเรียนวิชาโขนหญิง เพราะเมื่อก่อนคิดว่าการเรียนโขนเรียนได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่พอพวกเราได้เข้ามาเรียนก็รู้สึกว่าผู้หญิงอย่างเราก็สามารถเรียนโขนได้ด้วยเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น